มาอีกแล้วค่ะกับความเชื่อโบราณ คาดว่าทุกคนคงเคยได้ยินบ้างแหล่ะ ว่าหากเป็นโรคงูสวัดแล้วมีตุ่มขึ้นเรียงกันเป็นเส้น แล้วหัวกับท้ายเส้นมาชนกันบนรอบตัวพอดี เราจะเสียชีวิต โอ๊ยตาย น่ากลัวอีกแล้ว ความเชื่อโบราณนี่มีอะไรให้เราประหลาดใจได้เสมอเลย จนผู้เขียนเองต้องไปค้นหาความจริงว่าเป็นจริงหรือไม่อย่างไร ตอนนี้มีคำตอบมาฝากผู้อ่านที่น่ารักทุกท่านแล้วค่ะ
โรคงูสวัดคืออะไร ?
โรคงูสวัด เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า Varicella Zoster เป็นไวรัสชนิดเดียวกันกับโรคอีสุกอีใส ส่วนชื่อโรคว่า “งูสวัด” น่าจะเป็นคำเรียกกันจากคนไทยโบราณ ที่ชอบเรียกชื่อโรคตามลักษณะอาการที่มองเห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งก็คือลักษณะที่เป็นผื่นพุพอง ทอดเป็นแนวยาวคล้ายตัวงูที่พาดบนร่างกายของเรา
โรคงูสวัดมีอาการอย่างไร ?
อาการของงูสวัสดในช่วงก่อนผื่นขึ้น 1-3 วัน ผู้ป่วยโรคงูสวัดจะมีอาการปวดแสบ ปวดร้อน คล้ายกับถูกไฟไหม้ค่อนข้างทรมานทีเดียวจากคำบอกเล่าของผู้ป่วยที่เคยมารักษานะคะ โดยเฉพาะบริเวณเส้นประสาทแถวชายโครงที่ลำตัว ใบหน้า แขน ขา หลังจากนั้นจะเริ่มมีตุ่มน้ำ และอาจเป็นสะเก็ดแข็งๆเวลาขยับตัวแรงๆ อาจจะระบมได้ค่ะ
เราจะมีโอกาสป็นงูสวัดได้หรือไม่
อย่างแรกเลยคนที่เป็นโรคงูสวัด ต้องเคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อนค่ะ เมื่อหายแล้ว เชื้อไวรัสจะไปซ่อนตัวอยู่ในปมประสาทใต้ผิวหนัง บางครั้งจะแฝงตัวในร่างกายเราแบบสงบเสงี่ยมเจียมตัว จนเมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำลง เช่น อายุมากขึ้น เครียด ทำงานหนัก พักผ่อนไม่เพียงพอ ดื่มน้ำน้อย ติดเชื้อ HIV เป็นโรคมะเร็ง หรือกำลังรับยากดภูมิคุ้มกันเพื่อรักษาโรคอื่นๆ อยู่ เชื้อที่แฝงตัวอยู่ก็จะเพิ่มจำนวนขึ้น และกระจายตัวอยู่ในปมประสาท ทำให้เส้นประสาทอักเสบ คือง่ายๆถ้าร่างกายเราอ่อนแอเมื่อไหร่ เชื้อนี้จะออกมาโลดแล่นแสดงให้เราเห็นบนผิวหนังเรานั่นเองค่ะ
งูสวัดเป็นแล้วอันตรายแค่ไหน?ถ้า
ว่ากันตามวิทยาศาสตร์การแพทย์จริงๆ แล้วโรคงูสวัดไม่ได้ร้ายแรงถึงขั้นทำให้เราเสียชีวิตได้ หากภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยดีขึ้น ร่างกายของผู้ป่วยก็จะสามารถต้านทานเชื้อไวรัส และหายจากโรคได้เองภายใน 10-15 วัน และโรคงูสวัดที่ปรากฏเป็นเม็ดตุ่มแดงๆ จะเกิดขึ้นเพียงซีกใดซีกหนึ่งของร่างกายเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้ป่วยมีร่างกายที่อ่อนแอมากกว่าปกติ หรืออยู่ในภาวะภูมิต้านทานโรคต่ำ หรือกำลังอยู่ในระหว่างรับยากดภูมิต้านทาน รอยของโรคก็อาจจะสามารถปรากฏขึ้นได้ทั้งสองข้าง จนทำให้มองเห็นเหมือนลักษณะงูพันรอบเอว หรือรอบตัวได้ ก็พบเห็นผู้ป่วยที่เป็นงูสวัดรอบตัวได้บ่อยๆ แต่ก็รักษาหายได้เป็นปกติ
“ฉะนั้น ความเชื่อที่ว่า งูสวัดขึ้นรอบตัวแล้วจะเสียชีวิต จึงเป็นเรื่องที่ไม่จริงนะคะ”
แต่แม้ว่าโรคงูสวัดจะเป็นโรคที่สามารถหายได้เองเมื่อภูมิคุ้มกันร่างกายของเราดีขึ้น และมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นซ้ำน้อย แต่ในบางรายที่ตุ่มน้ำยุบลงไปแล้ว แต่อาการปวดแสบปวดร้อนตามแนวเส้นประสาทยังคงอยู่ เราจะเรียกอาการแบบนี้ว่า อาการปวดประสาทค้าง ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาหลายเดือน หรือเป็นปี จนกว่าอาการนี้จะหายสนิทค่ะ ยังไงถ้าเป็นงูสวัดแล้วเนี่ยควรไปพบแพทย์ด้วยดีกว่าค่ะ เพื่อให้อาการหายได้เร็วขึ้น และอาการจะได้ไม่รุนแรง
งูสวัดเป็นโรคติดต่อหรือไม่
ในคนที่ภูมิคุ้มกันปกติ การสัมผัสหรือใกล้ชิดไม่ได้ทำให้ติดงูสวัด เนื่องจากการติดเชื้อไวรัสจากผู้ป่วยงูสวัดนั้นเกิดยาก เพราะงูสวัดจะแพร่เชื้อในระยะที่ตุ่มน้ำแตก และสัมผัสสารคัดหลั่งจากตุ่มน้ำโดยตรง จึงสามารถที่จะสัมผัส ใกล้ชิด กินข้าวร่วมกับผู้ป่วยได้ตามปกติ ยกเว้นในคนที่ยังไม่เคยเป็นโรคสุกใสมาก่อน หากสัมผัสคนที่เป็นงูสวัด ก็จะได้รับเชื้อและเป็นไข้สุกใสได้ แต่ในผู้ป่วยที่เป็นงูสวัดแบบแพร่กระจาย อาจสามารถแพร่เชื้อทางลมหายใจได้ด้วยนะคะ การปฏิบัติตนเมื่อพบว่าเป็นงูสวัด
1. รักษาแผลให้สะอาด ในระยะเป็นตุ่มน้ำใสที่มีอาการปวดแสบปวดร้อน ให้ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำเกลือเช็ดบ่อยๆ ในระยะตุ่มน้ำแตกมีน้ำเหลืองไหล ต้องระมัดระวังการติดเชื้อแบคทีเรียที่จะเข้าสู่แผลได้ ควรใช้น้ำเกลือสะอาดชะล้างแผล แล้วปิดด้วยผ้าก๊อซสะอาด
2. ถ้าปวดแผลมากสามารถรับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ได้
3. ไม่ควรใช้เล็บแกะเกาตุ่มงูสวัด เพราะอาจทำให้มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน กลายเป็นตุ่มหนอง แผลหายช้า และกลายเป็นแผลเป็น
4. การรับประทานอาหาร สามารถรับประทานได้ทุกอย่าง โดยไม่มีข้อห้าม
5. ไม่ควรเป่า หรือพ่นยาลงบนแผล เพราะจะทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน แผลหายช้า
ทีนี้ก็ไม่ต้องห่วง งูสวัดพันรอบตัวเป็นแล้วไม่เสียชีวิต แต่ถ้างูเหลือมพันรอบตัวนี่โอกาสรอดยากแน่นอน แถมโดนเข้าไปอยู่ในท้องงูอีกต่างหาก แฮ่ หยอกขำๆค่ะ ที่สำคัญก็คือต้องดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรง ออกำลังกายบ้างถ้ามีเวลา นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่นอนดึก ดื่มน้ำมากๆ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง จะได้ไม่เป็นงูสวัดกันนะคะ